3. ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองConstructivism(ทิศนา แขมมณี.2554:90-94)

ก.       ทฤษฎีการเรียนรู้
วีก็อสกี้ ( Vygotsky ) เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซียที่ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางเชาว์
ปัญญาในสมัยเดียวกับเพี่ยเจต์ ( Piaget ) ทฤษฎีพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของเพียเจต์และวีก็อทสกี้เป็นรากฐานที่สำคัญของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ( Constructivism ) เพียเจต์อธิบายว่า พัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของบุคคลมีการปรับตัวผ่านทางกระบวนการซึมซาบหรือดูดซึม ( assimilation ) และกระบวนการปรับโครงสร้างทางปัญญา ( accommodation ) พัฒนาการเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับและซึมซาบ ข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่เข้าไปสัมพันธ์กับความรู้หรือโครงสร้างทางปัญญาที่มีอยู่เดิม หากไม่สามารถสัมพันธ์กันได้จะเกิดภาวะไม่สมดุลขึ้น ( disequilibrium ) บุคคลจะพยายามปรับสภาวะให้อยู่ในภาวะสมดุล ( equilibrium ) โดยใช้กระบวนการปรับโครงสร้างทางปัญญา ( accommodation )
                ทั้งเพียเจต์และวีก็อทสกี้ นับว่าเป็นนักทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพุทธินิยม ( Cognitivism ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับ “ cognition ” หรือกระบวนการรู้คิด หรือกระบวนการทางปัญญา นักคิดคนสำคัญในกลุ่มนี้คือ อุลริค ไนส์เซอร์ ( Ulrich Neisser )
                เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของทฤษฎีการสร้างความรู้ได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงจะขอเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับแนวคิดของทฤษฎีกลุ่มปรนัยนิยม ( Objectivism ) ซึ่งมีความเห็นว่า โลกนี้มีความรู้ ความจริง ซึ่งเป็นแก่นแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง การศึกษาคือการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความรู้ ความจริงเหล่านี้
                โจแนสเซน ( Jonassen , 1992 : 138 – 139 ) กล่าวย้ำว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ สรุปได้ว่า การเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เป็นกระบวนการในการ “ acting on ” ไม่ใช่ “ taking in ” กล่าวคือ เป็นกระบวนการผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล ไม่ใช่เพียงรับข้อมูลเข้ามา ( Fosnot , 1992 : 171 )
ข.       การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
1.       เป้าหมายการเรียนรู้จะต้องมาจากการปฏิบัติงานจริง ( authentic tasks ) ครูจะต้องเป็น
ตัวอย่างและฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเห็น ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
2.       การเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จะต้องให้มีประสิทธิภาพถึงขั้นทำได้และแก้ปัญหาจริงได้
3.       ผู้เรียนจะเป็นผู้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างตื่นตัว ( active ) ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้จัดกระทำ
กับข้อมูลหรือประสบการณ์ต่าง ๆ และจะต้องสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นด้วยตนเอง โดยการให้ผู้เรียนอยู่ในบริบทจริง
4.       ในการจัดการเรียนการสอนครูจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศทางสังคมจริยธรรม
( sociomoral ) ให้เกิดขึ้น กล่าวคือ ผู้เรียนจะต้องมีโอกาสเรียนรู้ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
5.       ในการเรียนการสอน ผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ( Devries , 1992 : 1 -2 ) โดย
ผู้เรียนจะนำตนเองและควบคุมตนเองในการเรียนรู้
6.       ในการเรียนการสอนแบบสร้างองค์ความรู้ ครูจะมีบทบาทแตกต่างไปจากเดิม ( Devries ,
1992 : 3 – 6 ) คือ จากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และควบคุมการเรียนรู้เปลี่ยนไปเป็นการให้ความร่มมือ อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้ คือ การเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนจาก “ instruction ” ไปเป็น “ construction ” คือ เปลี่ยนจาก “ การให้ความรู้ ” ไปเป็น “ การให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ”
7.       ในด้านการประเมินผลการเรียน ( Jonassen , 1992 : 137 – 147 ) จำเป็นต้องมีลักษณะเป็น
  “ goal free evaluation ” ซึ่งก็หมายถึงการประเมินตามจุดมุ่งหมายในลักษณะที่ยืดหยุ่นกันไปในแต่ละบุคคล หรืออาจใช้วิธีการที่เรียกว่า “ socially negotiated goal ” และการประเมินควรใช้วิธีการหลากหลาย ซึ่งอาจเป็นการประเมินจากเพื่อน แฟ้มผลงาน ( portfolio ) รวมทั้งการประเมินตนเองด้วย
  เอกสารอ้างอิง    ทิศนา  แขมมณี. 2554. ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย